ภาษาไทย | English








แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกนอกเขตพื้นที่พักอาศัย
และการกำหนดโทษกรณีออกนอกเขตโดยไม่ได้รับอนุญาต

แนวทางปฏิบัติกับบุคคลบนพื้นที่สูงและชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย

  1) เวียดนามอพยพ  กำหนดเขตที่พักอาศัยในพื้นที่ 13 จังหวัด การออกนอกเขตที่พักอาศัยต้องขออนุญาตต่อนายอำเภอ
  2) อดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่ออพยพพลเรือน กำหนดเขตควบคุมในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด การออกนอกเขตอำเภอควบคุมให้ขออนุญาตต่อนายอำเภอ การออกนอกเขตจังหวัดให้ขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
  3) ไทยลื้อ  กำหนดเขตควบคุมอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยกำหนดให้ใช้ระเบียกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนและการควบคุมอดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่ออพยพ พ.ศ.2528 เป็นระเบียบควบคุมไทยลื้อโดยอนุโลม
  4) ผู้อพยพเชื้อสายไทย จากจังหวัด เกาะกง กัมพูชา  กำหนดเขตควบคุมอยู่ในจังหวัดตราด  การอนุญาตออกนอกเขตให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย   ว่าด้วยการทะเบียนและการควบคุมอดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่ออพยพ พ.ศ.2528
  5) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 9 จังหวัด
    - การออกนอกเขตหมู่บ้าน ตำบลในอำเภอควบคุมให้ขออนุญาตต่อนายอำเภอ
    - การออกนอกเขตอำเภอให้ขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
    - การออกนอกเขตจังหวัดให้ขออนุญาตต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปัจจุบันปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนแล้ว
  6) ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด
    - การอนุญาตออกนอกเขตฯ ให้ใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำทะเบียนและบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า พ.ศ.2522 มาใช้โดยอนุโลม
  7) จีนฮ่ออิสระ อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด
    - การออกนอกเขตอำเภอควบคุมให้ขออนุญาตต่อนายอำเภอ 
    - การออกนอกเขตจังหวัดให้ขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
  8) เนปาลอพยพ อาศัยอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี
    - มอบอำนาจให้นายอำเภอทองผาภูมิ เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตออกนอกเขตพื้นที่อำเภอ
    - มอบอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตออกนอกเขตพื้นที่จังหวัด
  9) ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า (อพยพเข้ามาหลัง 9 มีนาคม 2519) อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 9 จังหวัด
    - ออกนอกเขตได้เฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วน คือเจ็บป่วยหนักซึ่งสถานพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถให้การรักษาได้เท่านั้น
    - การออกนอกเขตอำเภอควบคุมให้ขออนุญาตต่อนายอำเภอ 
    - การออกนอกเขตจังหวัดให้ขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
    - การผ่อนผันให้ทำงานของกลุ่มนี้ให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ประสงค์จ้าง ไปขอรับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองถือใบอนุญาตทำงานและบัตรประจำตัวไว้เป็นหลักฐาน
เพื่อรับการตรวจจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  10) บุคคลบนพื้นที่สูงและชุมชนบนพื้นที่สูง และชาวเขาที่อพยพเข้ามาก่อนวันที่ 3 ตุลาคม 2528 อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ 20 จังหวัด
    - ออกนอกเขตอำเภอ/กิ่งอำเภอ ครั้งละไม่เกิน  7 วัน ให้นายอำเภอ/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเป็นผู้อนุญาต
    - ออกนอกเขตจังหวัด ครั้งละไม่เกิน 10 วัน ให้นายอำเภอ/ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นผู้อนุญาต แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ
    - ออกนอกเขตจังหวัดเกิน 10 วัน ให้อำเภอเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุญาต และอนุญาตได้ไม่เกินครั้งละ 15 วัน
    - กรณีจำเป็นและมีเหตุผลพิเศษ ให้อำเภอเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป
  ชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ได้แก่
    - ม้งในที่พักสงฆ์ถ้ำกระบอก
    - ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชา
    - อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา
    - ลาวอพยพ
  ไม่มีแนวทางปฏิบัติในการออกนอกเขตแต่อย่างใด
         

แนวทางการตรวจสอบเอกสารการขออนุญาตออกนอกเขตของตำรวจท้องที่
 

    - ชนกลุ่มน้อยที่ถือบัตรดังกล่าวจะต้องขออนุญาตออกนอกเขตกับเจ้าหน้าที่ก่อนออกนอกเขตทุกครั้ง
    - เมื่อได้รับอนุญาตต้องมีใบอนุญาตติดตัวพร้อมบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย (บัตรสีต่าง ๆ)
    - ตรวจสอบบัตรประจำตัวโดยขอตรวจสอบเลขประจำตัวกับ ส่วนการทะเบียนราษฎร โทร. 0-2791-7318 ถึง 20
    - ตรวจสอบหนังสืออนุญาตว่ามีหรือไม่ และถูกต้องหรือไม่
    - ตรวจเลขที่ออกหนังสือว่าจริงหรือไม่ และระยะเวลาในการขออนุญาตออกนอกเขตสิ้นสุดแล้วหรือไม่
         
การกำหนดโทษกรณีออกนอกเขตโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
  1. โทษหนักสุด   รายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบเพื่อเสนอให้การผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวสิ้นสุด
  2. โทษเบา
    - ตักเตือน ทำทัณฑ์บนไว้กับนายอำเภอ/ปลัดอำเภอ  ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
    - เปรียบเทียบปรับฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา 368
    - เปรียบเทียบปรับฯ และให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่